|
|
|
พี่ไทยซะอย่าง ต้อนรับทุกระดับประทับใจ ยิ่งดังยิ่งเป็นราชา |
|
|

เคยสังเกตไหม ว่าเวลาที่มีคนดังระดับโลก เดินทางมายังประเทศไทย บ้านเรามักจะเตรียมพิธีการต้อนรับที่จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่อลังการไว้รอท่าเสมอ นับตั้งแต่ก้าวแรกที่ลงจากเครื่องบิน ไล่ไปจนถึงการจัดงานเลี้ยงรับรอง ซึ่งถ้าเป็นคนสำคัญทางการเมืองนี่อาจจะคุ้นเคยและไม่รู้สึกแปลกใจเท่าไหร่ เพราะแขกเหรื่อที่มาคอยต้อนรับนั้น ก็มักจะมีไม่มาก หากแต่เป็นคนสำคัญที่เกี่ยวข้องจริงๆ แต่ถ้าหากคนที่มาเยือนมีฐานะเป็นสตาร์ (ไม่ว่าจะวงการไหนก็ตาม) แล้วละก็ รับรองว่าจะต้องงงกับจำนวนแฟนๆ ที่มารอกรี๊ด และพิธีการต้อนรับที่ยิ่งใหญ่และทุ่มทุนสร้าง นัยว่าจะสร้างความประทับใจให้แขกผู้มาเยือนนั้นจดจำไปชั่วชีวิต ล่าสุด ราฟาเอล นาดาล นักเทนนิสมือหนึ่งของโลก ก็เพิ่งเดินทางมายังประเทศไทย และได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจนสำนักเอพี ตีข่าวไปทั่วโลกว่า ประเทศไทยต้อนรับนาดาลเยี่ยงราชา ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีคนดังระดับโลกหลายคนที่เคยมาเยี่ยมเยียนประเทศไทย และได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นเยี่ยงราชาไม่แพ้กัน เมื่อแขกมาเยือนถึงเรือนชาน คงเป็นเรื่องปกติ ถ้าหากจะมีการจัดพิธีการต้อนรับ แบบสุดยิ่งใหญ่ให้กับแขกบ้านแขกเมือง ที่เป็นคนระดับผู้นำของโลก อย่างเช่นการจัดทหารกองเกียรติยศเตรียมต้อนรับ นายโคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ มาตรการความปลอดภัยสูงสุดที่มีให้กับ นายจอร์จ ดับเบิลยู. บุช อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ หรือจะเป็นพิธีการต้อนรับบุคคลสำคัญที่เดินทางมาประชุมเอเปก แต่กับคนธรรมดา ที่ถือว่าเป็นคนดังในสังคม ไม่ว่าจะเป็น ดารา นักร้อง นักกีฬา เมื่อมาเยือนเมืองไทย กลับได้รับการต้อนรับอย่างดีไม่แพ้คนสำคัญทางการเมืองซึ่งเป็นแขกของรัฐบาล ล่าสุด ราฟาเอล นาดาล ก็มีคิวเข้าพบกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีของประเทศ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงระดับความสำคัญของนาดาล สำหรับคนบ้านเรา หรืออย่างตอนที่ เดวิด แบ็คแฮมมาเยือนประเทศไทยในฐานะนักเตะของ เรียล มาดริดนั้น แม้จะไม่มีแฟนๆ ไปรอที่สนามบินมากสักเท่าไหร่ มีแต่นักข่าวที่ต้องมาทำหน้าที่ที่สนามบินจำนวนนับร้อย เพราะทางสนามบิน ได้อำนวย ความสะดวก เปิดห้องวีไอพีให้แก่อาคันตุกะ และเคลียร์ทางเอาไว้จนคนนอกไม่มีโอกาสเข้าถึงตัว แต่ที่โรงแรมนั้นกลับมีแฟนๆ กว่าครึ่งพันไปรอพบหน้า และในตอนที่เพื่อนทีมเรียล มาดริดของเขา เดินทางไปยังเชียงใหม่ ทางจังหวัดเชียงใหม่ก็ได้เตรียมพิธีการต้อนรับแบบสุดอลังการไว้รอท่า โดยมีขบวนกลองยาวมาตีต้อนรับกันในสนามบินอย่างอึกทึกครึกโครม และมีมวลชนจัดตั้งมาต้อนรับ ตั้งแต่ก้าวแรกที่ลงจากเครื่องยันในเมือง ผิดกับตอนที่แบ็คแฮม ต้องยอมถอดรองเท้าให้แก่เจ้าหน้าที่สนามบินสหรัฐอเมริกา ตรวจหาวัตถุอันตรายตามกฎ เมื่อครั้งที่สนามบินในสหรัฐฯ มีมาตรการความปลอดภัยพิเศษในปี 2550 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าแท้แล้ว เขาก็เป็นเพียงคนธรรมดาคนหนึ่ง กระทบไหล่คนดัง (ระดับโลก) วุฒิชัย (ขอสงวนนามสกุล) พนักงานภาคพื้นดินของสายการบินแห่งหนึ่ง ที่เคยมีโอกาสต้อนรับ ซูเปอร์สตาร์ชื่อดังอย่าง เดวิด แบ็คแฮม ครั้งที่มาพร้อมกับทีมฟุตบอลราชันชุดขาว 'เรียล มาดริด' เขาได้เล่าให้ฟังถึงบรรยากาศวันนั้นว่า “ตอนนั้นยังเป็นสนามบินดอนเมืองอยู่เลยครับ วันนั้นผู้สื่อข่าวจะเยอะมากๆ มารอทำข่าว แล้วก็จะมีผู้ใหญ่มามากมาย เพื่อให้การต้อนรับ คล้องพวงมาลัยกันไปตามเรื่อง แต่หลักๆ ความยิ่งใหญ่ของพิธีก็จะขึ้นอยู่กับความดังของคนที่มาด้วยนะครับ เพราะล่าสุดกับ แอตแลนติโก มาดริด ที่มาเตะกับทีมชาติไทยเมื่อช่วงสิงหาคม ก็ไม่มีอะไรใหญ่โตมีแค่เปิดห้องวีไอพี” ส่วนรูปแบบการต้อนรับทั้งหมดนั้นจะขึ้นอยู่กับทางฝ่ายผู้มาเยือนจะร้องขอมา ว่าต้องการแบบไหน อยากพูดคุยกับแฟนๆ ที่มาต้อนรับ หรือเปิดห้องวีไอพีอยู่แบบเงียบๆ คือเลือกได้หมดว่าจะเอาแบบพิธีรีตองกันสุดๆ หรือส่วนตัวสุดๆ ก็ได้” แต่เท่าที่ผ่านมา หลังจากที่แขกเดินทางออกมาจากสนามบินแล้ว ก็มักจะต้องเข้าสู่พิธีการต้อนรับที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งถูกจัดเตรียมเอาไว้ภายนอกแล้วเสมอๆ ทางด้าน จักรพงษ์ (ขอสงวนนามสกุล) พนักงานภาคพื้นดินอีกคนของสายการบินยักษ์ใหญ่ ผู้ซึ่งพบเห็นพิธีการต้อนรับคนดังระดับโลกมานักต่อนัก ก็ได้แบ่งประเภทของเหล่า 'ผู้มาต้อนรับ' ออกเป็น 3 ประเภทด้วยกัน “หลักๆ ที่มักจะเห็นตามสนามบิน เวลาที่พวกคนดังมา จะมีคน 3 กลุ่ม ที่มารอต้อนรับ กลุ่มแรกคือพวกแฟนคลับที่มาด้วยความชอบเอง ก็จะมาตามกรี๊ด ถ่ายรูป วิ่งตามเฉยๆ ถัดมาคือกลุ่มแขกผู้ใหญ่ซึ่งจะมาต้อนรับอย่างเป็นทางการ ก็จะเอาพวงมาลัย ดอกไม้ หรือของต่างๆ มามอบให้ก่อนพาไปเลี้ยงต้อนรับ ซึ่งกลุ่มนี้มักจะมีบัตรประจำตัวที่สามารถเดินเข้าไปในอาคารผู้โดยสารได้เป็นกรณีพิเศษ เช่น นักการเมือง นักการทูต หรือตำรวจ ส่วนสุดท้ายคือเจ้าหน้าที่ซึ่งจะมาดูแลเรื่องความเรียบร้อยในการผ่านด่านตรวจต่างๆ เช่น เจ้าหน้าที่รัฐ หรือเจ้าหน้าที่สนามบิน ก็จะมาเดินตาม มายกกระเป๋าให้ “หลักๆ แล้ว เราใช้กำลังคนมาช่วยกันอำนวยความสะดวกให้ผ่านขั้นตอนยุ่งยากต่างๆ ไปได้อย่างรวดเร็วเสียมากกว่า ไม่ได้มีการต้อนรับที่ยิ่งใหญ่อะไรในสนามบิน เพราะว่าเงื่อนไขเรื่องพื้นที่ไม่อำนวย” เท่าที่ฟังดู คล้ายกับว่า แขกผู้มาเยือน นั้นต้องการเพียงการอำนวยความสะดวกเล็กๆ น้อยๆ เพื่อให้การเดินทางผ่านพ้นไปด้วยดีเท่านั้น อ้าว! แล้วการเดินทางมาเข้าคิวคล้องพวงมาลัย การพาไปงานเลี้ยงหรู ดูการแสดงรำไทย การตั้งขบวนกลองยาว ที่เรียงหน้าเข้ามาต้อนรับนั้น แท้แล้วมันเป็นสิ่งที่แขกต้องการหรือไม่หนอ? บางทีการต้อนรับที่อบอุ่นมากๆ ของคนบ้านเรา มันอาจจะกลายเป็นความอบอุ่นที่มากเสียจนรู้สึกร้อนหรือเปล่า กาลเทศะ “เรื่องของการต้อนรับคนที่มาเยือนประเทศไทยนั้น ก่อนอื่นต้องยอมรับว่า สังคมไทยเรานั้นมีวัฒนธรรมเกี่ยวกับเรื่องของการต้อนรับผู้มาเยือนมาตั้งแต่อดีตกาล และมันก็เป็นคอนเซ็ปต์อันหนึ่งของสังคมไทยด้วย คือเวลาที่ญาติหรือแขกมาบ้านก็ต้องมีการต้อนรับดูแลเกิดขึ้น ซึ่งมันสะท้อนถึงวัฒนธรรมการต้อนรับขับสู้ที่ผนึกแน่นอยู่ในสังคมไทย” เสริมคุณ คุณาวงศ์ แห่ง CM ออร์แกนไนเซอร์ ผู้ที่คลุกคลีอยู่กับการประสานงาน และจัดกิจกรรมอีเวนต์ต่างๆ ทั้งในในไทย และในระดับโลก ให้ความเห็นถึงวัฒนธรรมการต้อนรับคนดังของคนไทย “อีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมพิธีการต้อนรับ ให้สมบูรณ์มากขึ้น ก็คือระบบการบริหารจัดการใหม่ๆ ที่สามารถนำมาเป็นเครื่องมือที่ใช้จัดการต้อนรับได้อย่างแอดวานซ์มากขึ้น ทั้งการจัดการต้อนรับที่งวงเครื่องบิน การจัดการด้านศุลกากร การทำไพรเวทโซนในโรงแรม ถ้าสิ่งเหล่านี้ไม่ได้มีอยู่ในสังคมไทย ระดับของการต้อนรับก็จะไม่ได้เท่านี้” และเมื่อถามความเห็นของเสริมคุณ ว่าพิธีการต้อนรับคนดังในทุกวันนี้มันมันมากเกินไปหรือไม่ เสริมคุณก็ให้ทัศนะที่น่าสนใจว่า “ระดับของการต้อนรับนั้นอยู่ที่กาละเทศะ เช่นการต้อนรับพระราชอาคันตุกะ ซึ่งเป็นประมุขของประเทศต่างๆ ก็เป็นแบบหนึ่ง การต้อนรับคนดัง นักฟุตบอลดาราก็เป็นแบบหนึ่ง ลึกๆ แล้วผมเชื่อว่าเขาต้องการความเป็นส่วนตัว สัก 75 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป ของเวลาที่ใช้ในประเทศไทย “กาละก็คือเวลา เทศะก็คือสถานที่ เช่น ถ้าผู้นำประเทศมาเยือนไทย แต่มาอย่างไม่เป็นทางการ การต้อนรับก็ต้องไม่ได้เป็นแบบการต้อนรับผู้นำประเทศ การทำเต็มที่ทุกครั้งโดยไม่ดูกาละเทศะให้ดี ไม่ใช่สิ่งที่สมควรทำ” จริงอยู่ ที่วัฒนธรรมการต้อนรับของบ้านเรานั้น เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สามารถสร้างความประทับใจให้แก่แขกผู้มาเยือนได้ แต่ในทางกลับกัน ถ้ามันมากเกินไป ความประทับใจที่เกิดขึ้นก็อาจจะกลายเป็นความประทับใจที่ไม่น่าจดจำสักเท่าไหร่ เพราะไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดก็ตาม ความพอดี ก็ยังเป็นสิ่งที่จำเป็นอยู่เสมอ >>>>>>>>>>> ……… เรื่อง : ทีมข่าว CLICK ภาพ : อดิศร ฉาบสูงเนิน manager |
|
|
เนื้อหาที่คุณอาจกำลังค้นหา :- |
|
|
|
|
|
|
|
|
|