สำนักข่าวมุสลิมไทย ตูนีเซีย อาหรับประเทศแรกที่ประชาชนก่อการประท้วงไล่ผู้นำสำเร็จ
บันทึกประวัติศาสตร์ “ปฏิวัติดอกมะลิ” ในตูนีเซีย อาหรับประเทศแรกที่ประชาชนก่อการประท้วงไล่ผู้นำสำเร็จ
สำนักข่าวตะวันออกกลาง - Foued Mebazaa ประธานสภาวัย 78 ปี สาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีชั่วคราว แทนอดีตประธานาธิบดีตูนีเซีย ซีน เอล อาบิดีน เบน อะลี ซึ่งถูกประชาชนประท้วงขับไล่หลังปกครองประเทศมานานถึง 23 ปี แต่กลับทำให้ประชาชนยากจนลง และไม่มีงานทำ Mebazaa แถลงเมื่อวันอาทิตย์ (16/01) ว่าจะปฏิรูปการเมือง และให้ประชาชนมีสิทธิ์มีเสียงในการปกครองประเทศมากขึ้น และจะจัดให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีขึ้นภายใน 2 เดือน

ทหารและรถถังถูกเกณฑ์ออกมารักษาการณ์ในเมืองหลวงตูนิส หลังจากผู้ประท้วงบุกเข้าร้านค้า และบ้านเรือนเพื่อแย่งชิงสินค้า และอาหาร รวมทั้งจุดไฟเผาสถานีรถไฟ มีเสียงปืนดังประปรายเมื่อวันเสาร์บริเวณถนนย่านกลางเมือง ซึ่งทหารปิดทางเข้าออกเพื่อกันผู้เข้ามาประท้วง
ตูนีเซียประกาศภาวะฉุกเฉิน และเคอร์ฟิว เมื่อวันศุกร์ (14/01) ในขณะที่อดีตประธานาธิบดีเบน อะลี ลี้ภัยไปอาศัยในซาอุดี้ อาระเบีย หลังจากฝรั่งเศสประกาศไม่ต้อนรับเขา
นายกรัฐมนตรี มุฮัมมัด ฆานูชี่ ซึ่งในเบื้องแรกประกาศว่าจะเข้ารักษาการในตำแหน่งประธานาธิบดี เริ่มออกซาวเสียงพรรคการเมือง และกลุ่มต่างๆ เพื่อขอความเห็นเกี่ยวกับระบบการเมืองแบบเปิดเพื่อให้ต่างจากการปกครองแบบเดิม รวมทั้งมีการนัดแนะผู้เชี่ยวชาญมาให้คำปรึกษาหารือทีละคน ในสูตรของรัฐบาลใหม่ซึ่งจะเป็นการสมานฉันท์ในชาติ และจัดการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรมภายใต้การสังเกตการณ์ของนานาชาติ ซึ่งพรรคของเบน อะลี ก็สามารถเข้ามีส่วนร่วมได้เหมือนเดิม
เหตุจลาจลในตูนีเซียบานปลายจากจุดเล็กๆ ที่ บัณฑิตมหาวิทยาลัยวัย 26 ปี เผาตัวเองเพื่อประท้วงการที่ตำรวจไล่แผงขายผัก และผลไม้ของเขา ซึ่งเป็นหนทางหาเลี้ยงครอบครัวหนทางเดียวที่เขามีอยู่ ปัญหาการว่างงานและความยากจนที่สะสมมานานในตูนีเซีย ก่อให้เกิดความโกรธเคืองคุกรุ่นในหมู่คนรุ่นใหม่อยู่แล้ว และเหตุการณ์ที่ก่อหวอดมาตั้งแต่เดือนธันวาคมปีก่อน ทำให้การประท้วงเริ่มขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ โดยกลุ่มสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า มีผู้ประท้วงเสียชีวิตไปแล้วหลายสิบคน ด้วยน้ำมือของตำรวจปราบจลาจล
หลายชาติในยุโรปรวมทั้งสหรัฐเรียกร้องให้เกิดความสงบในตูนีเซีย และเร่งให้มีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่แท้จริงโดยด่วน แม้แต่กลุ่มอาหรับลีกยังกล่าวถึงเหตุการณ์ครั้งนี้ว่า ต้องบันทึกเป็นประวัติศาสตร์ และตัวอย่างของโลกอาหรับ ในการที่ประชาชนประสบความสำเร็จในการประท้วงจนผู้นำต้องเผ่นออกนอกประเทศ
ชาวเน็ตในตูนีเซีย ขนานนามการลุกฮือขึ้นประท้วงของประชาชนครั้งนี้ว่า Jasmine Revolution
เบน อะลี ขึ้นสู่อำนาจจากการปฏิวัติที่ปราศจากการเสียเลือดเนื้อในปี 1987 ซึ่งในขณะนั้นเขาได้พัฒนาประเทศ และออกกฎหมายปฏิรูปอย่างเปิดกว้าง แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาประชาชนได้เห็นความแตกต่าง จากการใช้ชีวิตที่หรูหราฟุ่มเฟือยของเขาและครอบครัว - www.muslimthai.com |