30 ปี พีเอ็นวายเอส...รัฐต้องเลิกมองนักศึกษาเป็นโจร!
แวลีเมาะ ปูซู โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา พีเอ็นวายเอส (PNYS) คือกลุ่มนักศึกษาจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งประกอบด้วย ปัตตานี (P) นราธิวาส (N) ยะลา (Y) สงขลาและสตูล (S) เป็นความจริงที่มิอาจปฏิเสธว่า กลุ่มนักศึกษา พีเอ็นวายเอส เป็นส่วนหนึ่งของกงล้อประวัติศาสตร์สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่หมุนวนอย่างมีพลวัตในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา ------ พีเอ็นวายเอส (PNYS) คือกลุ่มนักศึกษาจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งประกอบด้วย ปัตตานี (P) นราธิวาส (N) ยะลา (Y) สงขลาและสตูล (S) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2522 จากแรงกายแรงใจของคนรุ่นใหม่จากปลายด้ามขวานราว 20 คนที่มาศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างความรักสามัคคี ปลูกฝังจิตสำนึกความเป็นมุสลิม และรวบรวมสมาชิกที่อยู่กันอย่างกระจัดกระจายให้สามารถติดต่อถึงกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน และรวมตัวกันทำประโยชน์เพื่อสังคม 
แต่ข้อเท็จจริงที่มิอาจปฏิเสธได้เช่นกันก็คือ การเปิดพื้นที่นอกห้องเรียนเพื่อเคลื่อนไหวเรียกร้องความเป็นธรรมในหลายเรื่องหลายประเด็น บางครั้งก็ถูกมองอย่างไม่เข้าใจ และอีกหลายๆ ครั้งถูกมองอย่างอคติ ในสมัยเริ่มตั้งกลุ่มใหม่ๆ พีเอ็นวายเอส ถูกเพ่งเล็งจากหลายฝ่ายว่าเป็นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการเมืองระหว่างประเทศ ต่อมาในปี พ.ศ.2525 สมาชิกของกลุ่ม 14 คนถูกจับและตั้งข้อหาลอบวางระเบิดในกรุงเทพฯ แต่ภายหลังได้รับอิสรภาพจากการช่วยเหลือทางคดีของ นายสมชาย นีละไพจิตร อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม และนายทองใบ ทองเปาด์ ทนายแม็กไซไซ ปี พ.ศ.2528 พีเอ็นวายเอส เน้นบทบาทด้านการรับใช้สังคม อาทิ การจัดค่ายอาสาพัฒนาและศึกษาปัญหาในชนบท ตลอดจนโครงงานเยี่ยมเยียนประชาชนในท้องถิ่นห่างไกลทุรกันดาร ทว่าเมื่อสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้เคลื่อนเข้าสู่ภาวะความไม่สงบในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ดูเหมือนการเคลื่อนไหวของกลุ่มที่แม้จะยอมรับกันว่าเป็น พลังบริสุทธิ์ กลับยิ่งต้องเผชิญกับแรงกดดันจากความไม่ไว้ใจมากขึ้น โดยเฉพาะจากฝ่ายความมั่นคง การจัดชุมนุมครั้งใหญ่ที่หน้ามัสยิดกลางจังหวัดปัตตานีเมื่อวันที่ 31 พ.ค.ถึง 4 มิ.ย.2550 เพื่อเรียกร้องให้รัฐตรวจสอบเหตุการณ์ร้ายๆ ที่คาใจพี่น้องประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่าเป็นฝีมือของ รัฐ เองหรือไม่ ทำให้พวกเขาต้องถูกตรวจสอบประวัติกันหลายวุ่นวาย หลายคนถูกขึ้นบัญชีดำ เมื่อไม่นานมานี้กลุ่มนักศึกษา พีเอ็นวายเอส จึงร่วมกันจัดงานมหกรรมสืบสานวัฒนธรรมชายแดนใต้เพื่อสันติภาพ ในวาระ 30 ปีพีเอ็นวายเอสขึ้นที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยเป้าหมายไม่ใช่แค่ให้สังคมได้รู้จักกลุ่ม พีเอ็นวายเอส หากแต่ต้องการให้สังคมไทยได้ เรียนรู้และเข้าใจ ประวัติศาสตร์ความเป็นมาและเป็นไป ตลอดจนวิถีวัฒนธรรมแห่งสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งสภาพความจริงในพื้นที่ ณ ปัจจุบันที่นับวันผู้คนในสังคมไทยจะรู้จักและเปิดใจยอมรับน้อยลงทุกที 
ฟายอัยดีน ดีเยาะ ประธานโครงงานสืบสานวัฒนธรรมชายแดนใต้เพื่อสันติภาพฯ และอดีตกรรมการพีเอ็นวายเอสฝ่ายมวลชนสัมพันธ์ ปี พ.ศ.2550 กล่าวถึงภาพรวมของงานว่า เป็นที่น่าพอใจ จากเดิมหวังว่าจะมีคนมาร่วมแค่พันกว่าคน แต่เมื่อถึงวันงานจริงๆ กลับมีผู้เข้ารับฟังและรับชมนิทรรศการถึง 2,000 คน
ผมคิดว่าสาเหตุที่คนสนใจกันเยอะคงเป็นเพราะเนื้อหากิจกรรมต่างๆ ที่เตรียมไว้ล้วนเป็นโจทย์ให้สังคมได้คิดตาม เนื้อหาที่นำเสนอค่อนข้างเป็นข้อมูลทางวิชาการ โดยเฉพาะข้อเท็จจริงตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมาว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างกับชาวบ้านในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในห้วงเวลาที่รัฐใช้กฎอัยการศึก และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ข้อมูลความจริงเหล่านี้ทำให้คนในกรุงเทพฯ ตื่นตัวและให้ความสำคัญมาก สำหรับกิจกรรมภายในงานมีทั้งบอร์ดนิทรรศการอธิบายอดีตจนถึงปัจจุบันระหว่างรัฐไทยกับปัตตานี พิพิธภัณฑ์ของโบราณ การแสดงสีลัตกายง ปันจะสีลัต ละครสะท้อนสังคม ดิเกร์ฮูลู การขับร้องอานาซีด และเวทีสานเสวนาสู่สันติภาพ ไฮไลท์ของงานคือการสานเสวนา 3 หัวข้อ ได้แก่ ความมั่นคงของชาติกับสิทธิมนุษยชนจะไปด้วยกันได้อย่างไร มี นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรีที่เคยลงพื้นที่เก็บข้อมูลและเสนอแนวทางแก้ปัญหาในรัฐบาลไทยรักไทย นายกิจจา อาลีอิสเฮาะ ตัวแทนจากศูนย์ทนายความมุสลิม และ รศ.สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นวิทยากร มลายูมุสลิมชายแดนใต้คือใคร มี พล.ต.ต.จำรูญ เด่นอุดม ประธานมูลนิธิวัฒนธรรมอิสลามภาคใต้ เป็นวิทยากร และ ความเป็นอยู่และการต่อสู้เพื่อสันติภาพของประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีแกนนำนักศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มาสะท้อนปัญหาร่วมกัน เรียกว่าผู้มาร่วมงานนั่งฟังกันไม่มีถอยกระทั่งเลิกเลยทีเดียว ทุกครั้งที่สถานการณ์ไฟใต้ทวีความรุนแรง จะมีนักศึกษาออกมารวมพลังทันที โดยเฉพาะพีเอ็นวายเอส เพราะสมาชิกของกลุ่มล้วนมีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทุกคนจึงมีแรงบันดาลใจอยากเห็นบ้านเกิดของตนเองสงบสุข ผมคิดว่าทุกฝ่ายควรมองบทบาทของนักศึกษาตรงนี้ว่านี่คือพลังบริสุทธิ์ที่สังคมหรือชาวบ้านตั้งความหวัง ทุกคนก็รู้อยู่ว่ากลุ่มนักศึกษาไม่มีผลประโยชน์ใดๆ แต่กลับถูกคนของรัฐมองว่าโจร ฟายอัยดีน เผยความรู้สึก และว่า
สำหรับคนมลายูมุสลิมชายแดนใต้ตั้งแต่บรรพบุรุษจนถึงปัจจุบัน รัฐก็ยังมีทัศนคติเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง มองความคิดต่างของประชาชนว่าเป็นโจร ทั้งๆ ที่รัฐเองก็ส่งเสริมให้ประชาชนเข้าใจในหลักการประชาธิปไตย แต่รัฐกลับไม่เคยเคารพ ไม่เคยแม้แต่จะรับฟังถึงปัญหาความเดือดร้อน ไม่เคยเคารพในวิถีชีวิตของชาวบ้าน จึงไม่แปลกที่รัฐพยายามดูด กด กลืน ให้ความต่างนั้นเปลี่ยนแปลงตัวเอง แต่ทั้งหมดทั้งสิ้น ไม่ได้ทำให้ ฟายอัยดีน และกลุ่มนักศึกษาพีเอ็นวายเอส รู้สึกย่อท้อ ผมมองเป็นเรื่องขำมากกว่า ฝ่ายไหนจะมองอย่างไรผมไม่สนใจ เพราะพวกเราเป็นนักศึกษา สิ่งที่พวกเราทำคือรักษาเกียรติ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสิทธิเสรีภาพของคนในพื้นที่ เพื่อให้พวกเขาห่างไกลจากความอยุติธรรม สำหรับก้าวต่อไปของกลุ่มนักศึกษาจากปลายด้ามขวาน ฟายอัยดีน บอกว่า นักศึกษาต้องพัฒนาความคิดตนเองและชาวบ้านให้เห็นคุณค่าของสิทธิเสรีภาพตามหลักการประชาธิปไตย เพื่อเดินหน้าสู่การมีพื้นที่ทางการเมืองอย่างสอดคล้องกับความเป็นตัวตนของคนมลายูมุสลิมชายแดนใต้อย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรี แต่จะด้วยกระบวนการอย่างไรนั้นต้องหารือกันในหลายๆ ภาคส่วน รวมทั้งฝ่ายรัฐเอง ขณะที่เครือข่ายนักศึกษาเพื่อพิทักษ์ประชาชน (คพช.) ซึ่งมี ตูแวดานียา ตูแวแมแง เป็นประธาน และมีรากฐานมาจาก พีเอ็นวายเอส เช่นกัน มองไม่ต่างจากฟายอัยดีนว่า คงต้องยอมรับความจริงว่า ผลจากการจัดชุมนุมที่มัสยิดกลางปัตตานี และกระแสข่าวที่ประโคมออกไปทำให้สังคมภายนอกเข้าใจว่ากลุ่มนักศึกษามีส่วนกับขบวนการใต้ดิน ถูกฝ่ายความมั่นคงจับตา ที่จริงแล้วการออกมาแสดงบทบาทเป็นกระบอกเสียงตรงนั้น พวกเราอาศัยความเป็นนักศึกษาเพื่อให้สังคมรับรู้ความรู้สึกร่วมของชาวบ้านและในฐานะคนในพื้นที่ โดยไม่มีอะไรแอบแฝงเหมือนที่สังคมเข้าใจ ตูแวดานียา กล่าว สำหรับบทบาทของ คพช.ในขณะนี้ เน้นไปที่การจัดเวทีสัมมนาในประเด็นเกี่ยวกับกฎหมายพิเศษที่ใช้อยู่ในพื้นที่ โดยเฉพาะ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และกฎอัยการศึก เพื่อให้ชาวบ้านมีความรู้ความเข้าใจ และปกป้องสิทธิเสรีภาพของตนเองได้ นอกจากนั้นก็พยายามทำงานอาสาพัฒนาในพื้นที่ที่ไม่ค่อยได้รับการเหลียวแลจากรัฐ
เราจะช่วยกันผลักดันให้ชาวบ้านมีพื้นที่ทางการเมืองมากขึ้น ใช้รูปแบบประชาธิปไตยทางตรงเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับตนเอง จากเดิมที่ชาวบ้านใช้อำนาจผ่าน ส.ส.กับ ส.ว.ทางรัฐสภา แต่วันนี้ผลที่ออกมาเห็นชัดแล้วว่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาอะไรได้ โศกนาฏกรรมที่หมู่บ้านไอปาแย (เหตุการณ์บุกยิงพี่น้องชาวไทยมุสลิมถึงในมัสยิดที่บ้านไอปาแย ต.จวบ อ.เจาะไอร้อง) สะท้อนความจริงว่าระบบที่มีอยู่ไม่สามรถคลายความเคลือบแคลงใจของชาวบ้านที่มีต่อเจ้าหน้าที่รัฐได้ และไม่สามารถผลักดันให้เกิดคณะกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ แล้วจะมีหวังเรื่องความเป็นธรรมได้อย่างไร แม้จะรู้สึกท้อกับกระบวนการยุติธรรมไทย แต่ ตูแวดานียา ก็ยืนยันแทนตัวเองและกลุ่มเพื่อนว่า ไม่เคยคิดเลือกใช้วิธีรุนแรง หรือสนับสนุนกลุ่มขบวนการใต้ดินในการต่อสู้ ผมรู้สึกท้อก็จริง แต่ก็ไม่ได้ทำให้ผมกลายเป็นคนที่สนับสนุนความรุนแรงเหมือนกับที่หลายคนสงสัยว่ากลุ่มนักศึกษาไปมีส่วนเกี่ยวข้องสนับสนุนกลุ่มขบวนการใต้ดิน ผมยืนยันว่าพวกเราไม่เคยคิดเช่นนั้น แต่ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่จะถูกใส่ร้ายป้ายสี เป็นวาทกรรมปกติตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้วที่รัฐไม่พอใจกับการออกมาเคลื่อนไหวของประชาชนและนักศึกษาในพื้นที่ ทั้งๆ ที่พวกเราแค่อยากเห็นสันติภาพ เช่นเดียวกับ ไลลา เจะซู ผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนนักศึกษาเพื่อสันติภาพ (คยนส) ที่รู้สึกผิดหวังกับความล้มเหลวของภาครัฐในการแก้ปัญหาความขัดแย้งในดินแดนด้ามขวาน ฉันคิดว่าตราบใดที่รัฐยังไม่สามารถจัดการเรื่องความรู้สึกไม่เป็นธรรมในหัวใจของประชาชนได้ ตราบนั้นสันติภาพก็ไม่มีวันเกิดขึ้น ไลลา ยังกล่าวถึงการปรับโครงสร้างของกลุ่มนักศึกษาจากชายแดนใต้ด้วยว่า เนื่องจากหลายคนจบการศึกษาไปแล้ว คงต้องมีการปรับปรุงโครงสร้างใหม่ที่อาศัยความร่วมมือร่วมแรงร่วมใจจากทุกฝ่าย คาดว่าเร็วๆ นี้น่าจะมีองค์กรใหม่ขึ้นมารองรับการทำงาน... นี่คือคลื่นความคิดและย่างก้าวแห่งอนาคตของขบวนการนักศึกษาจากชายแดนใต้ นักศึกษาที่ใครๆ ก็ล้วนเชื่อมั่นในพลังบริสุทธิ์ และฝากความหวังให้เป็นอนาคตของบ้านเมือง!
|